ความเป็นมา


ที่มาของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภายหลังการปฏิรูประบบราชการไทยเมื่อปี พ.ศ. 2545 และการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการนำแนวคิดวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงมีข่าวการดำเนินงานที่ขาดความโปร่งใสและการร้องเรียนเรื่องทุจริตในการรับบริการของหน่วยงานภาครัฐจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับภาพลักษณ์การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) โดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งที่ผ่านมามีค่าคะแนนค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด ล่าสุดประเทศไทยมีค่าคะแนนภาพลักษณ์การทุจริต ประจำปี 2557 อยู่ที่ 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 85 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการทุจริตภายในประเทศ ทั้งในแง่จำนวนคดีการทุจริตและในแง่ทัศนคติการรับรู้ของประชาชน ตลอดจนนักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้เริ่มศึกษากรอบแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและเครื่องมือการวัดระดับความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี พ.ศ. 2553 ได้เริ่มทดสอบใช้เครื่องมือการประเมินความโปร่งใสกับหน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงาน ผลการทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนากรอบแนวคิดในการประเมินผลความโปร่งใสที่สามารถ ใช้เป็นเครื่องมือทางการบริหารในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐให้มีการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) ที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้ทราบถึงระดับความโปร่งใสในการดำเนินงานตามภารกิจหลักของหน่วยงานโดยเรียกเครื่องมือนี้ว่า "ดัชนีวัดความโปร่งใสในการดาเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index of the Public Agencies)” ซึ่งเป็นการประเมินหน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่าจากเอกสารหลักฐานการดำเนินงานเชิงประจักษ์ (Evidence - based) ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาใช้ในการประเมินระดับความโปร่งใสและการดำเนินงานตาม หลักธรรมาภิบาลและกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการประเมินหน่วยงานภาครัฐนำร่อง 45 หน่วยงาน มีค่าคะแนนความโปร่งใสเฉลี่ย 65.99 คะแนน จากนั้น ในปี พ.ศ. 2555 ได้ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 110 หน่วยงาน มีค่าคะแนนความโปร่งใส เฉลี่ย 61.67 คะแนน

แหล่งที่มา : https://www.nacc.go.th/ewt_news.php?nid=10564