กรอบแนวคิด


กรอบแนวคิดของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

หลักทฤษฎีของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการประเมินในลักษณะการวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีแบบแผน การวิจัย (Research Design) เป็นแบบการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Methods Research) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยที่ผนวกเทคนิค กระบวนการ หรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของเทคนิควิธีเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) และเทคนิควิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Method) เข้าด้วยกัน โดยทั้งสองเทคนิควิธีจะดำเนินไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันและสรุปผลการวิจัย ดังนี้

ขอบเขตการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

ขอบเขตด้านเนื้อหา

เนื้อหาในการประเมินต้องมีความตรง (Validity) และครอบคลุมในคุณลักษณะเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล รวมไปถึงความโปร่งใสที่หน่วยงานภาครัฐพึงจะปฏิบัติ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตามที่ระเบียบหรือกฎหมายกำหนด และต้องมีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงจนเกินไป เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกรูปแบบสามารถเข้ารับการประเมินได้

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้กำหนดเนื้อหาของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเนื้อหาของการประเมิน ประกอบด้วย 5 ดัชนี ดังนี้
(1) ดัชนีความโปร่งใส (Transparency Index)
(2) ดัชนีความพร้อมรับผิด (Accountability Index)
(3) ดัชนีความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน (Corruption – Free Index)
(4) ดัชนีวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture Index)
(5) ดัชนีคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity Index)

ขอบเขตด้านวิธีการศึกษา

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ใช้วิธีวิจัยที่สำคัญ 2 วิธี คือ
(1) การวิจัยจากเอกสาร (Document Research) โดยจัดเก็บข้อมูลจากเอกสารหรือหลักฐาน ตามแบบสำรวจใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ Evidence – Based Integrity & Transparency Assessment โดยให้หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินตอบคำถามเกี่ยวกับคุณลักษณะ ระบบ หรือขั้นตอนที่หน่วยงานดำเนินการจริงและมีหลักฐานประกอบที่มีคุณลักษณะที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรมและความโปร่งใสสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
(2) การวิจัยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง (Sample Survey‎ Research) โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดเห็น การรับรู้ และประสบการณ์จากกลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามตามแบบสำรวจความคิดเห็น External Integrity & Transparency Assessment และแบบสำรวจความคิดเห็น Internal Integrity & Transparency Assessment เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน กระบวนการ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐ เรื่องความโปร่งใส ความพร้อมรับผิด ความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน โดยการกำหนดกลุ่มตัวอย่างให้สอดคล้องและเหมาะสม

แหล่งที่มา : https://www.nacc.go.th/ewt_news.php?nid=12806